[Review] หนังสือ FAULT LINES : บทที่ 2 ส่งออกเพื่อเติบโต

ในบทแรกนั้นได้กล่าวถึง “รอยเลื่อนภายใน(ประเทศ)” ที่ปะทุขึ้นในภาคการเงินของสหรัฐอเมริกา

จนก่อให้เกิดวิกฤติการการเงินอย่างร้ายแรงในเวลาถัดมา

ส่วนในบทที่ 2 นี้ Rajan ได้แสดงข้อมูลที่ว่า ไม่เพียงแต่รอยเลื่อนภายในเพียงอย่างเดียวที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติการการเงินโลกในครั้งนี้

แต่มีรอยเลื่อนภายนอกอื่นๆอีก ที่ช่วยกันถางรอยร้าวให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น และยาวขึ้น

รอยเลื่อนภายนอก ที่ว่านี้ก็คือการสนับสนุน “การส่งออก” ของต่างประเทศนั่นเอง
Rajan ได้สรุปว่า ในช่วงแรก แต่ละประเทศจำเป็นต้องอาศัยการแทรกแซงจากรัฐบาลเป็นตัวช่วยผลักดันหรือที่เรียกว่า “ทุนนิยมจัดการ” (Managed Capitalism) รวมไปถึงการใช้กลยุทธ์ “การส่งออกนำ” เพื่อแสวงหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทุนนิยมจัดการ (Managed Capitalism) – รัฐบาลเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยการสนับสนุนผ่านทางนโยบายต่างๆดังนี้

1. อุ้มชูอุตสาหกรรมทารก หรือ ธุรกิจใหม่ ในระยะเริ่มแรก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิกเฉยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ธุรกิจสามารถเรียนรู้ ดูดซับ เทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยการลอกเลียนแบบ เพื่อเป็นรากฐานในการเติบโตช่วงแรก

2. ปกป้องตลาดภายในประเทศ โดยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงๆ รวมไปถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ

3. สนับสนุนการสร้างบริษัท แชมเปี้ยน ซึ่งเมื่อกำแพงภาษีเอาไม่อยู่ รัฐก็สนับสนุนให้บริษัทควบรวมเพื่อสร้างการประหยัดจากขนาด (Economies of Scales)

4. สร้างกิจการของรัฐ(รัฐวิสาหกิจ) เพื่อสร้างพื้นที่ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร้คู่แข่ง

5. ส่งเสริมการส่งออก โดยมีนโยบาย ตรึงค่าเงินให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อสินค้าจะได้ราคาถูกในสายตาของคนต่างชาติ และ กดค่าแรงให้ต่ำ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของธุรกิจ

การแทรกแซงของรัฐบาลข้างต้นนี้ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรในยามที่เศรษฐกิจโลกดี (เนื่องจากต่างชาติมีกำลังซื้อ) แต่ในยามที่เกิดวิกฤติดังเช่นในปี 1930 ลองคิดดูว่าเมื่อต่างชาติเลิกนำเข้าสินค้า ทำให้เราต้องหันมาพึ่งพิงตลาดภายในประเทศ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? ซึ่ง Rajan ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการจากแทรกแซงของรัฐบาลข้างต้นไว้ดังนี้

1. การอุ้มชูบริษัทบางกลุ่ม ส่งผลให้บริษัทขาด “แรงจูงใจ” ในการแข่งขันพัฒนา จนขาดประสิทธิภาพในการผลิต

2. การแทรกแซงของรัฐ ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนในข้อมูลที่เท็จจริง

3. การเอื้อให้ผู้ผลิตเพียงบางกลุ่มในประเทศกำลังพัฒนานั้น ส่งผลเสียหายต่อ “ครัวเรือน”

จากการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่รัฐจะกดค่าแรงให้ต่ำ เพื่อให้ธุรกิจมีกำไรจากการขายและใช้ลงทุนขยายกิจการให้ใหญ่โตยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังช่วยโดยขายวัตถุดิบและพลังงานในราคาถูก

เงินอุดหนุนก้อนโตที่รัฐทุ่มทุนสร้างเพื่อให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาดูดีนี้ ถูกชดเชยโดยการ เก็บภาษีครัวเรือนมากขึ้น รวมไปถึง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำ ส่งผลให้ ครัวเรือนมีรายได้ลดลง

ในเมื่อการบริโภคถูกกดทับ จึงส่งผลย้อนแย้งต่อการตอบสนองการบริโภคภายในประเทศ ทำให้บริษัทไม่มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ให้ขายของอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า การสนับสนุนการส่งออกของรัฐบาลผ่านบริษัทต่างๆนั้นก่อให้เกิด รอยเลื่อน อีกรอยที่ประทุขึ้นมาในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่และเราจำเป็นต้องหันมาพึ่งตลาดภายในที่เรามองข้ามมาโดยตลอด

วิธีที่ Rajan เสนอให้แก้ไขปัญหาข้างต้น ก็คือ 1. การไม่แทรกแซงจากรัฐบาล 2. ความสมดุลทางการค้า ( X=M ) 3. หาแหล่งกำกับดูแลบริษัทที่เป็นระบบและมีมาตรฐานกว่ารัฐบาล

จากตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น พวกเขาได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการเน้นการส่งออก ซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างมากและก่อให้เกิดการเกินดุลมหาศาล การเกินดุลนี้เองส่งผลให้เขาสามารถนำเงินไปจ่ายคืนเงินกู้จากต่างชาติได้ แต่ผลเสียก็คือว่า มันไปเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินปรับตัวสูงขึ้น

ซึ่งภายหลัง ญี่ปุ่นถูกปรับค่าเงินให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ภายใต้ข้อตกลง Plaza ในปี 1985 ส่งผลให้การส่งออกลดลง

ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องแก้เกมส์โดยการลดอัตราดอกเบื้ยลงเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์แทน

เพื่อพยุงให้อุตฯที่เน้นการส่งออกปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่

สินทรัพย์ที่เติบโตขึ้น แสดงถึงความมั่งคั่งของคนในประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบริโภคและลงทุนมากขึ้น และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดูท่าจะขยายตัวตาม แต่…

แทนที่มันจะผ่อนคลายกับจุดประกายเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นและอสังฯขนาดใหญ่

แทนที่มันจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ผลิตเพื่ออุปสงค์ในประเทศ กลับไปเพิ่มการลงทุนใน ต่างประเทศ ที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าเพื่อขยายการส่งออก

รวมไปถึงการบริโภคของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจริง แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น พอธนาคารกลางประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาบ้านและหุ้นก็ดิ่งเหวและ ณ จุดนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่น ก็พังลง

สรุปได้ว่า การสนับสนุนการส่งออกของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลเสียต่อ ครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอย รวมไปถึงการเกินดุลจากการส่งออก ส่งผลทำให้ค่าเงินปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งย้อนกลับมาทำให้การส่งออกลดลงในที่สุด จะเห็นได้ว่ารอยเลื่อนรอยนี้น่าจะมีอยู่ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นที่เดียว เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาระเบิดเท่านั้นเอง…

Leave a comment